น้ำผลไม้ปั่น ขวัญใจแก้กระหายคู่ชาวออฟฟิศอย่างเรา ที่ต้องมีติดโต๊ะประจำหลังจากมื้อเที่ยง เพื่อเพิ่มความสดชื่นในการทำงานแถมยังมีประโยชน์สำหรับร่างกาย แต่รู้หรือไม่ว่า ผลไม้หลายชนิดที่มีรสชาติหอมหวานอร่อย ถูกใจวัยทำงานอย่างเรานั้น ถ้าเราบริโภคมากไปก็อาจจะทำให้เกิดผลเสียได้ มาดูกันว่าน้ำผลไม้ปั่นมีประโยชน์หรือโทษอย่างไร
ประโยชน์ของน้ำผลไม้ปั่นจากผลไม้ชนิดต่างๆ
ผลไม้ยอดฮิตที่นำมาทำเป็นน้ำผลไม้ปั่น คงไม่พ้นตระกูล เบอร์รีต่าง ๆ โดยยกตัวอย่างผลไม้ตามร้านค้าและซูเปอร์มาร์เก็ต ที่หาง่ายและมีประโยชน์ ห่างไกลโรคอีกด้วย
· เคพกูสเบอร์รี (Cape Gooseberry) ที่เต็มไปด้วย วิตามินซี ที่มีคุณสมบัติในการป้องกันไข้หวัด ภูมิแพ้ และวิตามินเอ ที่ช่วยบำรุงสายตา ป้องกันอาการมองไม่เห็นในที่มืด บำรุงผิว มีผมสวยและดกดำ
· แครนเบอร์รี (Cranberry) เป็นแหล่งวิตามินและเกลือแร่หลากชนิด ทั้งวิตามินซี วิตามินอี วิตามินเค 1 แมงกานีส และทองแดง ซึ่งล้วนเป็นสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย และยังอุดมไปด้วยสารชีวภาพหลายชนิดที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ แครนเบอร์รียังมีกรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของยาแอสไพริน ที่มีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการบวม ป้องกันการเกิดลิ่มเลือด และช่วยต้านเซลล์มะเร็งได้
· แบล็กเบอร์รี (Blackberry) มีส่วนประกอบของวิตามินซีสูง ซึ่งสามารถฟื้นฟูคลอลาเจนได้ดี ช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและยังมีวิตามินเอ วิตามินอี รวมถึงช่วยชะลอการเกิดริ้วรอยก่อนวัย บำรุงผิว ช่วยสมานบาดแผล วิตามินบีรวม วิตามินเค และวิตามินอื่น ๆ ที่ช่วยในการเผาผลาญ นอกจากนี้ยังอุดมไปด้วยกากใยอาหารที่ช่วยในการขับถ่าย มีกรดเอลลาจิก (Ellagic ฤcid) ที่ช่วยในการลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็ง ช่วยในการรักษาความสมดุลของฮอร์โมนเพศหญิง ลดโอกาสแท้งบุตรในเพศหญิง
· ราสป์เบอรร์รี (Raspberry) มีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกาย มีน้ำตาลต่ำ จึงช่วยเรื่องการควบคุมน้ำหนัก โดยสารสีแดงในราสป์เบอร์รีเป็นตัวช่วยในการไหลเวียนของโลหิต ช่วยลดโอกาสแท้งบุตรในเพศหญิง เพราะราสป์เบอร์รี (Raspberry) มีโฟลิก (Folic ฤcid) ที่ช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับตัวอ่อนระหว่างตั้งครรภ์
· บลูเบอร์รี (Blueberry) มีสารฟลาโวนอยด์ (flavonoid)ชนิดหนึ่งหรือที่เรียกว่า แอนโธไซยานิน (Anthocyanin) ซึ่งเป็นสารที่ประกอบจากพืชที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และมีประโยชน์ต่อร่างกายในด้านอื่น ๆ ด้วย จากการวิจัยพบว่า การรับประทานบลูเบอร์รีจะมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงเป็นโรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหัวใจ นอกจากนี้บลูเบอร์รียังมีประโยชน์ด้านอื่น ๆ เช่น บำรุงสุขภาพผิว บำรุงสายตา บำรุงกระดูก ลดความดันโลหิต และป้องกันการเกิดโรคหัวใจ
· สตรอว์เบอร์รี (Strawberry) แม้จะมีคำว่าเบอร์รีอยู่ในชื่อ แต่ตามหลักวิทยาศาสตร์นั้นผลไม้ชนิดนี้กลับไม่ได้อยู่ตระกูลของเบอร์รี เพราะสตรอว์เบอร์รีนั้นเป็นผลไม้ที่จัดอยู่ในตระกูลเดียวกับพวกกุหลาบ ที่มีมากกว่า 20 สปีชีส์และมีลูกผสมอีกมากมาย สตรอว์เบอร์รีนั้นอุดมไปด้วยสารต่อต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น เควอซิทิน (Quercetin) เคทเฟอรอล (Kaempferol) แอนโทไซยานิน (Anthocyanin) ซึ่งสารดังกล่าวมีส่วนช่วยในการยับยั้งสารก่อมะเร็งต่าง ๆ และยังมีวิตามินซีสูง เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน สร้างคอลลาเจนให้ผิวหนัง ช่วยป้องกันโรคหวัด ช่วยลดอาการภูมิแพ้ ช่วยลดอาการที่เกิดจากการขาดวิตามินซี เช่น โรคช่องปาก
โทษของน้ำผลไม้
สิ่งที่ควรระวังในการดื่มน้ำผลไม้ปั่น ก็คือ การบริโภคอย่างพอดี ถ้าบริโภคทุกวันอาจจะทำให้เกิดโรคอ้วนหรือโรคเบาหวาน เนื่องจากน้ำผลไม้บางร้านก็อาจจะเติมน้ำเชื่อม นมสด หรือนมข้นหวาน และสารให้ความหวานอื่น ๆ ลงไป ทำให้แคลอรีและน้ำตาลเพิ่มขึ้น รวมถึงการบริโภคผลไม้บางชนิดมากในทีเดียว แม้เป็นไปเพื่อผลในการป้องกันการเกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ อาจได้รับีสารบางอย่างมากเกินไปก็ทำให้เป็นโทษได้ เช่น
- แครนเบอร์รีที่มีกรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) ที่อาจก่อำให้เกิดนิ่วในไตได้
- มะม่วง ที่มีปริมาณคาร์โบไฮเดรตที่สูงมาก ซึ่งส่งผลให้ปริมาณไขมันสูงขึ้น และมีน้ำตาลที่สูงอีกทั้งยังเป็นน้ำตาลกลุ่มกลูโคส ฟรักโทส และซูโครส ที่ดูดซึมเข้ากระแสเลือดได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย
- กล้วย ที่แม้จะอุดมไปด้วยโพแทสเซียมและไฟเบอร์ แต่กล้วยก็เต็มไปด้วยน้ำตาล แถมยังมีแคลอรีและคาร์โบไฮเดรตที่สูง ซึ่งส่งผลในการเพิ่มปริมาณไขมันในร่างกายให้สูงขึ้น
- อาโวคาโด อาโวคาโดเต็มไปด้วยไฟเบอร์ อย่างไรก็ตามอาโวคาโดก็ยังมีแคลอรีที่สูง หากกินมากเกินไปก็อาจจะไปเป็นการเพิ่มน้ำหนักได้
- มะพร้าว ที่มีปริมาณน้ำเยอะ บางคนก็คิดว่าดี แต่เนื้อมะพร้าวก็มีปริมาณของคาร์โบไฮเดรตสูง ก่อให้เกิด้ปริมาณไขมันในร่างกายสูงขึ้น
เราควรคำนึงถึงปริมาณในการบริโภคผลไม้ เช่น ควบคุมโดยการบอกกับทางร้านค้าว่า ไม่ใส่นม ไม่ใส่น้ำตาล หรือไม่ต้องแยกกาก เอาผลไม้ชนิดนี้เต็มลูก ครึ่งลูก เพียงเท่านี้ เราก็สามารถบริโภคผลไม้ให้เกิดประโยขน์กับร่างกายได้นอกจากนี้ ผู้ที่มีโรคประจำตัวยิ่งควรระมัดระวังการรับประทานผลไม้เป็นพิเศษ เนื่องจากการบริโภคมากเกินไป อาจทำให้อาการของผู้ป่วยแย่ลงได้ ตัวอย่างกรณีของผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังที่มาพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ ได้เกิดเหตุฉุกเฉินจนต้องเข้ารักษาในไอซียูทันที เพราะก่อนหน้านี้ผู้ป่วย้ได้ดื่มน้ำผลไม้ปั่นไป 2 แก้ว จากการดื่มน้ำผลไม้ 2 แก้วนี่เอง ที่ส่งผลให้โปแตสเซียมในเลือดขึ้นสูง หัวใจจึงเต้นผิดจังหวะ กรณีดังกล่าว้ จะเห็นชัดเจนว่า ถ้าบริโภคผลไม้มากเกินไป อาจก่อเกิดโทษต่อผู้ที่มีร่างกายไม่สมดุล เช่น ผู้ที่ป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรังรายนี้
ทุกสิ่งทุกอย่างมีสองด้านเสมอ ถ้าเรามีความรู้ความเข้าใจในสิ่งใดอย่างดีแล้ว สิ่งนั้นก็จะก่อให้เกิดประโยชน์กับเราได้สูงสุด แม้เรื่องราวของการรับประทานผลไม้ในกรณีนี้จะฟังดูน่ากลัว้ แต่จริง ๆ แล้วหากเราควบคุมการบริโภคให้พอดี ก็จะเสริมสร้างให้เรามีสุขภาพที่ดีและแข็งแรงได้เช่นกัน ซึ่งสำหรับลูกค้ากรุงไทย-แอกซ่าประกันชีวิตที่สนใจในการดูแลสุขภาพสามารถอ่านบทความด้านสุขภาพอื่น ๆ ได้ที่ https://www.krungthai-axa.co.th/th/health-advisories
แหล่งที่มาของข้อมูล
· โรงพยาบาลเปาโล
http://bit.ly/3XuiudB
· คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
bit.ly/3D8CQkx
